วานนี้ (วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565) เวลา 10.20 น.มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และชุมนุมนายเรืออากาศรุ่นที่ 31 จัดพิธีมอบกายอุปกรณ์ และเครื่องช่วยความพิการ พร้อมมอบทุนการศึกษา จำนวน 20 ทุน ตามแผนกิจกรรม "โครงการแม่บ้านทัพฟ้า พัฒนาศักยภาพคนพิการ จังหวัดชายแดนใต้ ประจําปี 2565" ณ กองกําลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 สนามบินบ่อทอง อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุนคนพิการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญของกลุ่มคนพิการในพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อย่างยั่งยืน
ขอบคุณ นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ คุณปัญญดาว ธูปะเตมีย์ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ โดยมี พลอากาศโท วรกฤต มุขศรี ประธานชุมนุมนายเรืออากาศ รุ่นที่ 31, พลอากาศโท ชัยนาท ผลกิจ เจ้ากรมกิจการพลเรือน, นาวาอากาศเอก ภราดร คุ้มทรัพย์ ประธานมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ,พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้, นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี, นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหารายได้และผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย, พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา, ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และนาวาอากาศเอก จักรกฤษณ์ กลิ่นสาหร่าย ผู้บังคับการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 เข้าร่วมพิธี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โครงการแม่บ้านทัพฟ้าพัฒนาศักยภาพคนพิการ จังหวัดชายแดนใต้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ
1. การสร้างคน คือ แกนนำคนพิการ แกนนำนิสิตนักศึกษาเพื่อช่วยเหลือคนพิการ กลุ่มเปราะบางในพื้นที่
2. การสร้างสวัสดิการสังคม สำหรับคนพิการ ทำให้คนพิการมีความมั่นคงด้านความเป็นอยู่ เข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม
3. การสร้างชุมชน ทำให้ทุกคนในชุมชนตระหนักและเข้าใจในเรื่องความพิการและคนพิการ
สำหรับผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาคณะทำงานศูนย์เรียนรู้ร่วมเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการ จังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินการให้บริการในชุมชน โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ สามารถพัฒนารูปแบบการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ จนปัจจุบันเกิดการสานพลังจากภาคีเครือข่ายด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการเพื่อสร้างแรงผลักดันทำให้เกิดนโยบายในเชิงปฏิบัติจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้